วันอังคารที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2551

Steve Jobs' Speech

"If you want to be successful online, read as many online Articles as you can"
สุนทรพจน์ของ Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple และผู้สร้าง Macintoch
โอวาทที่ Steve Jobs ผู้สร้าง Macintosh แสดงในวันรับปริญญาของมหาวิทยาลัย Stanford เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ไม่เพียงสร้างความประทับใจให้แก่บัณฑิตจบใหม่ในวันนั้น แต่ยังรวมไปถึงโลกคอมพิวเตอร์ที่ Silicon Valley และยังคงได้รับการชื่นชมและกล่าวขวัญไปทั่วโลกจนถึงวันนี้
สุนทรพจน์วันนั้น Jobs เพียงแต่เล่าถึงบทเรียนในชีวิตของเขา 3 บท แต่เป็น 3 บทที่ทำให้เขา ซึ่งแม้แต่แม่ที่แท้จริงก็ไม่ต้องการ กลายเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลก
บทเรียนบทแรกของ Jobs ซึ่งเขาเรียกมันว่า “ การลากเส้นต่อจุด” เริ่มต้นด้วยการเล่าว่า ตัวเขาเองไม่เคยเรียนจบมหาวิทยาลัย เพราะได้ลาออกหลังจากเรียนในมหาวิทยาลัย Reed College ไปได้เพียง 6 เดือน ส่วนเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยนั้น Jobs กล่าวว่า มันเริ่มขึ้นตั้งแต่เขายังไม่เกิด
แม่ที่แท้จริงของเขา ซึ่งเป็นนักศึกษาสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน ไม่ต้องการเลี้ยงดูเขา และตัดสินใจยกเขาให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่นตั้งแต่เขายังไม่ลืมตาดูโลก แต่เธอมีเงื่อนไขว่า พ่อแม่บุญธรรมของลูกของเธอจะต้องเรียนจบมหาวิทยาลัย Jobs เกือบจะได้เป็นลูกบุญธรรมของนักกฎหมายที่จบมหาวิทยาลัยและมีฐานะ ถ้าเพียงแต่พวกเขาจะไม่เปลี่ยนใจในนาทีสุดท้ายว่า พวกเขาไม่ต้องการเด็กผู้ชาย
กว่า Jobs จะได้พ่อแม่บุญธรรม ซึ่งต่อมาเป็นผู้เลี้ยงดูเขาจนเติบใหญ่ ก็อีกหลายเดือนหลังจากเขาเกิด เนื่องจากแม่ที่แท้จริงของเขาเกิดจับได้ว่า ว่าที่พ่อแม่บุญธรรมของ Jobs ได้ปิดบังระดับการศึกษาที่แท้จริงซึ่งไม่ได้จบมหาวิทยาลัย และพ่อบุญธรรมของ Jobs ไม่ได้เรียนมัธยมด้วยซ้ำ แต่ต่อมาเธอก็ได้ยอมเซ็นยก Jobs ให้แก่พ่อแม่บุญธรรม เมื่อพวกเขารับปากว่าจะส่งเสียให้ Jobs ได้เรียนมหาวิทยาลัย
17 ปีต่อมา Jobs ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสมตามความต้องการของแม่ที่แท้จริง ผู้ไม่เคยเลี้ยงดูเขาแต่กลับต้องการกำหนดชะตาชีวิตของลูกที่ตนไม่เคยเลี้ยงดู เพียง 6 เดือนในมหาวิทยาลัย Jobs ใช้เงินเก็บที่พ่อแม่บุญธรรมซึ่งเป็นเพียงชนชั้นแรงงานได้สะสมมาตลอดชีวิต หมดไปกับค่าเล่าเรียนที่แสนแพง Jobs ตัดสินใจลาออก เพราะเขามองไม่เห็นคุณค่าของการเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่สามารถช่วยให้เขาคิดได้ว่า เขาต้องการจะทำอะไรในชีวิต
แม้ว่าตอนนี้เมื่อมองกลับไปเขาจะรู้สึกว่า การตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา เพราะการลาออกทำให้เขาไม่ต้องฝืนเข้าเรียนในวิชาปกติที่บังคับเรียนซึ่งเขาไม่เคยชอบหรือสนใจ แต่สามารถเข้าเรียนในวิชาที่เขาเห็นว่าน่าสนใจได้
แต่เขาก็ยอมรับว่า นั่นเป็นชีวิตที่ยากลำบาก เมื่อเขาไม่ได้เป็นนักศึกษาจึงไม่มีห้องพักในหอพัก และต้องนอนกับพื้นในห้องของเพื่อน ต้องเก็บขวดโค้กที่ทิ้งแล้วไปแลกเงินมัดจำขวดเพียงขวดละ 5 เซ็นต์ เพื่อนำเงินนั้นไปซื้ออาหาร และต้องเดินไกล 7 ไมล์ทุกคืนวันอาทิตย์ เพื่อไปกินอาหารดีๆ สัปดาห์ละหนึ่งมื้อที่วัด Hare Krishna
อย่างไรก็ตาม เขาชอบที่หลังจากลาออก เขาสามารถที่จะไปเข้าเรียนวิชาใดก็ได้ที่สนใจ และวิชาทั้งหลายที่เขาได้เรียนในช่วงนั้น ซึ่งเขาใช้เวลาทั้งหมด 18 เดือน โดยเลือกเรียนตามแต่ความสนใจและสัญชาตญาณของเขาจะพาไป ได้กลายมาเป็นความรู้ที่หาค่ามิได้ให้แก่ชีวิตของเขาในเวลาต่อมา และหนึ่งในนั้นคือ วิชา ศิลปะการประดิษฐ์และออกแบบตัวอักษร (calligraphy)
Jobs ยอมรับว่า ในตอนนั้นเขาเองก็ยังมองไม่ออกเช่นกันว่า จะนำความรู้ที่ได้จากวิชานี้ไปใช้ประโยชน์อะไรได้ในอนาคตของเขา แต่ 10 ปีหลังจากนั้น เมื่อเขากับเพื่อนช่วยกันออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์ Macintosh เครื่องแรก วิชานี้ได้กลับมาเป็นประโยชน์ต่อเขาอย่างไม่เคยนึกฝันมาก่อน และทำให้ Mac กลายเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรก ที่มีการออกแบบตัวอักษรและการจัดช่องไฟที่สวยงาม
ถ้าหากเขาไม่ลาออกจากมหาวิทยาลัย เขาก็คงจะไม่เคยเข้าไปนั่งเรียนวิชานี้ และ Mac ก็คงไม่อาจจะมีตัวอักษรแบบต่างๆ ที่หลากหลาย หรือ font ที่มีการเรียงพิมพ์ที่ได้สัดส่วนสวยงาม รวมทั้งเครื่องพีซี ซึ่งใช้ Windows ที่ลอกแบบไปจาก Mac อีกต่อหนึ่งก็เช่นกัน คงจะไม่มีตัวอักษรสวยๆ ใช้อย่างที่มีอยู่ในตอนนี้
อย่างไรก็ตาม Jobs บอกว่า ในเวลาที่เขาตัดสินใจลาออกนั้น เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะสามารถ "ลากเส้นต่อจุด" หรือหยั่งรู้อนาคตได้ว่า วิชาออกแบบและประดิษฐ์ตัวอักษร (คอลิกราฟฟี่) จะกลายเป็นความรู้ที่มีประโยชน์ในการออกแบบ Mac เขาเพียงสามารถจะลากเส้นต่อจุดระหว่างวิชาลิปิศิลป์กับการคิดค้นเครื่อง Mac ได้อย่างชัดเจน ก็ต่อเมื่อมองย้อนกลับไปข้างหลังเท่านั้น
ในเมื่อไม่มีใครที่จะลากเส้นต่อจุดไปในอนาคตได้ ดังนั้นคำแนะนำของ Jobs ก็คือ คุณจะต้อง "ไว้ใจและเชื่อมั่น" ว่า จุดทั้งหลายที่คุณได้ผ่านมาในชีวิตคุณ มันจะหาทางลากเส้นต่อเข้าด้วยกันเองในอนาคต ซึ่งจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญา โชคชะตา ชีวิต หรือกฎแห่งกรรม ขอเพียงแต่คุณต้องมีศรัทธาในสิ่งนั้นอย่างแน่วแน่
บทเรียนชีวิตบทที่สองที่ Jobs เล่าต่อไปคือ ความรักและการสูญเสีย Jobs อายุเพียง 20 ปี เมื่อเขาเริ่มก่อตั้ง Apple กับเพื่อนที่โรงรถของพ่อ เพียง 10 ปีให้หลัง Apple เติบโตจากคนเพียง 2 คนกลายเป็นบริษัทใหญ่โตที่มีมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์และพนักงานมากกว่า 4,000 คน
แต่หลังจากที่เขาเพิ่งเปิดตัว Macintosh ซึ่งเป็นประดิษฐกรรมสร้างสรรค์ที่ดีที่สุดของเขา ได้เพียงปีเดียว Jobs ก็ถูกไล่ออกจากบริษัทที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งเองกับมือ เมื่ออายุเพียงแค่ 30 ปี หลังจากเขาทะเลาะถึงขั้นแตกหักกับนักบริหารมืออาชีพ ที่เขาเองเป็นผู้ว่าจ้างให้มาบริหาร Apple และกรรมการบริษัทกลับเข้าข้างผู้บริหารคนนั้น
ข่าวการถูกไล่ออกของเขาเป็นข่าวที่ใหญ่มาก และเช่นเดียวกัน มันเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิตของเขา Jobs กล่าวว่า เขาได้สูญเสียสิ่งที่เขาได้ทำมาตลอดชีวิตไปในพริบตา และเขารู้สึกเหมือนตัวเองพังทลาย เขาไม่รู้จะทำอะไรอยู่หลายเดือน และถึงกับคิดจะหนีออกจากวงการคอมพิวเตอร์ไปชั่วชีวิต
แต่ความรู้สึกอย่างหนึ่งกลับค่อยๆ สว่างขึ้นข้างในตัวเขา และเขาก็พบว่า เขายังคงรักในสิ่งที่เขาทำมาแล้ว ความล้มเหลวที่ Apple มิอาจเปลี่ยนแปลงความรักที่เขามีต่อสิ่งที่ได้ทำมาแล้วแม้เพียงน้อยนิด เขาจึงตัดสินใจที่จะเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ซึ่งต่อมาเขาพบว่า การถูกอัปเปหิจาก Apple กลับกลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตของเขา เพราะความหนักอึ้งของการประสบความสำเร็จได้ถูกแทนที่ด้วยความเบาสบายของการเป็นมือใหม่อีกครั้ง และช่วยปลดปล่อยเขาให้เป็นอิสระ จนสามารถเข้าสู่ช่วงเวลาที่สร้างสรรค์ที่สุดในชีวิตของเขา
ช่วง 5 ปีหลังจากนั้น Jobs ได้เริ่มตั้งบริษัทใหม่ชื่อ NeXT และ Pixar และพบรักกับ Laurence ซึ่งต่อมาเป็นภรรยาของเขา Pixar ได้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนจากคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องแรกของโลกนั่นคือ Toy Story และขณะนี้เป็นสตูดิโอผลิตการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก
ส่วน Apple กลับมาซื้อ NeXT ซึ่งทำให้ Jobs ได้กลับคืนสู่ Apple อีกครั้ง และเทคโนโลยีที่เขาได้คิดค้นขึ้นที่ NeXT ได้กลายมาเป็นหัวใจของยุคฟื้นฟูของ Apple
Jobs กล่าวว่า ความล้มเหลวเป็นยาขมแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนไข้ เมื่อชีวิตเล่นตลกกับคุณ จงอย่าสูญเสียความเชื่อมั่นในสิ่งที่คุณรัก Jobs เชื่อว่า สิ่งเดียวที่ทำให้เขาลุกขึ้นได้ในครั้งนั้น คือเขารักในสิ่งที่เขาทำ ดังนั้นคุณจะต้องหาสิ่งที่คุณรักให้เจอ เพราะวิธีเดียวที่จะทำให้คุณเกิดความพึงพอใจอย่างแท้จริง คือการได้ทำในสิ่งที่คุณเชื่อว่ามันยอดเยี่ยม และวิธีเดียวที่คุณจะทำให้คุณสามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยมได้ก็คือ คุณจะต้องรักในสิ่งที่คุณทำ และถ้าหากคุณยังหามันไม่พบ อย่าหยุดหาจนกว่าจะพบ และคุณจะรู้ได้เองเมื่อคุณได้ค้นพบสิ่งที่คุณรักแล้ว
ส่วนบทเรียนชีวิตบทสุดท้ายในโอวาทของเขาคือ ความตาย เมื่ออายุ 17 ปี Jobs ประทับใจในข้อความหนึ่งที่เขาได้อ่านมา ซึ่งเสนอแนวคิดให้คนมีชีวิตอยู่โดยคิดว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต และตลอด 33 ปีที่ผ่านมา Jobs จะถามตัวเองในกระจกทุกเช้าว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายในชีวิตของเขา เขาจะยังคงต้องการทำสิ่งที่เขากำลังจะทำในวันนี้หรือไม่ ถ้าหากคำตอบเป็น "ไม่" ติดๆ กันหลายวัน เขาก็รู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องเปลี่ยนแปลง
Jobs กล่าวว่า วิธีคิดว่าคนเราอาจจะตายวันตายพรุ่ง เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดเท่าที่เขาเคยรู้จักมา ซึ่งได้ช่วยให้เขาสามารถตัดสินใจครั้งใหญ่ๆ ในชีวิตได้ เพราะเมื่อความตายมาอยู่ตรงหน้า แทบทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังของคนอื่น ชื่อเสียงเกียรติยศ ความกลัวที่จะต้องอับอายขายหน้าหรือล้มเหลว จะหมดความหมายไปสิ้น เหลือไว้ก็แต่เพียงสิ่งที่มีคุณค่าความหมายและความสำคัญที่แท้จริงเท่านั้น
วิธีคิดเช่นนี้ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะช่วยให้คุณไม่ตกลงไปในกับดักความคิดที่ว่า คุณมีอะไรที่จะต้องสูญเสีย เพราะความจริงแล้ว เราทุกคนล้วนมีแต่ตัวเปล่าๆ ด้วยกันทั้งนั้น
เมื่อปีที่แล้ว เขาได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งที่ตับอ่อนชนิดที่รักษาไม่ได้ และจะตายภายในเวลาไม่เกิน 3-6 เดือน แพทย์ถึงกับบอกให้เขากลับไปสั่งเสียครอบครัวซึ่งเท่ากับเตรียมตัวตาย
แต่แล้วในเย็นวันเดียวกัน เมื่อแพทย์ได้ใช้กล้องสอดเข้าไปตัดชิ้นเนื้อที่ตับอ่อนของเขาออกมาตรวจอย่างละเอียด ก็กลับพบว่า มะเร็งตับอ่อนที่เขาเป็นนั้นแม้จะเป็นชนิดที่พบได้ยากก็จริง แต่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด และเขาก็ได้รับการผ่าตัดและหายดีแล้ว
นั่นเป็นการเข้าใกล้ความตายมากที่สุดเท่าที่ Jobs เคยเผชิญมา และทำให้ขณะนี้เขายิ่งสามารถพูดได้เต็มปาก เสียยิ่งกว่าเมื่อตอนที่เขาเพียงแต่ใช้ความตายมาเตือนตัวเองเป็นมรณานุสติว่า ไม่มีใครที่อยากตาย แม้แต่คนที่อยากขึ้นสวรรค์ก็ยังไม่อยากตายก่อนเพื่อจะไปสวรรค์ แต่ก็ไม่มีใครหลีกหนีความตายพ้น และเขาคิดว่า มันก็ควรจะเป็นเช่นนั้น Jobs เห็นว่า ความตายคือประดิษฐกรรมที่ดีที่สุดของ "ชีวิต" ความตายคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิต ความตายกวาดล้างสิ่งเก่าๆ ให้หมดไปเพื่อเปิดทางให้แก่สิ่งใหม่ๆ
ดังนั้น Jobs บอกว่า เวลาของคุณจึงมีจำกัด และอย่ายอมเสียเวลามีชีวิตอยู่ในชีวิตของคนอื่น จงอย่ามีชีวิตอยู่ด้วยผลจากความคิดของคนอื่น และอย่ายอมให้เสียงของคนอื่นๆ มากลบเสียงที่อยู่ภายในตัวของคุณ และที่สำคัญที่สุดคือ คุณจะต้องมีความกล้าที่จะก้าวไปตามที่หัวใจคุณปรารถนาและสัญชาตญาณของคุณจะพาไป เพราะหัวใจและสัญชาตญาณของคุณรู้ดีว่า คุณต้องการจะเป็นอะไร
Jobs ปิดท้ายสุนทรพจน์ของเขา ด้วยการหยิบยกวลีที่อยู่ใต้ภาพบนปกหลังของวารสารฉบับสุดท้ายของวารสารเล่มหนึ่งที่เลิกผลิตไปตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งเขาเปรียบวารสารดังกล่าวเป็น Google บนแผ่นกระดาษ และเป็นประดุจคัมภีร์ของคนรุ่นเขา วารสารดังกล่าวมีชื่อว่า The Whole Earth Catalog จัดทำโดย Stewart Brand ส่วนวลีนั้นคือ
"จงหิวโหย จงโง่เขลาอยู่เสมอ"
ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาหวังจะเป็นเช่นนั้นเสมอมา
Fortune ฉบับเดือนกันยายน 2548 แปลและเรียบเรียงโดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์

ไม่มีความคิดเห็น: